วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

       



                     อาการตัวเหลือง เกิดจากการมีสารสีเหลือง ที่เรียกว่า บิลิรูบิน ในเลือดสูงกว่าปกติ สารนี้ไปจับตามผิวหนัง ทำให้มองเห็นตัวเหลือง ทารกที่ตัวเหลืองจะมีตาเหลืองด้วย สารบิลิรูบินเกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง
สาเหตุของภาวะตัวเหลือง
  • เม็ดเลือดแดงของเด็กมีอายุสั้น จึงเกิดการแตกทำลายมาก ทำให้มีสารบิลิรูบินมาก และไปจับตามผิวหนัง
  • ตับของทารกยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้การขับสารบิลิรูบินออกจากร่างกายไม่ดีเท่าที่ควร สารบิลิรูบินจึงคั่งค้างในร่างกายมากขึ้น
  • บางรายหมู่เลือดของมารดาและทารกไม่เข้ากัน
  • บางรายเม็ดเลือดแดงของทารกขาดเอนไซม์ จี -6พีดี ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โลหิตเป็นพิษ ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ท่อนำดีอุดตัน เป็นต้น
            ภาวะตัวเหลืองอันตรายอย่างไร


          ทารกที่มีระดับบิลิรูบินสูงมาก เหลืองเร็ว เหลืองนาน ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดอาการดีซ่านขึ้นสมอง มีอาการซึม ดูดนมไม่ดี แขนขาอ่อนแรง ชักกระตุก ร้องเสียงแหลม กล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากสารบิลิรูบินไปจับเซลล์สมอง
การรักษา
  • การสังเกต
  • การส่องไฟ
  • การถ่ายเปลี่ยนเลือด
การสังเกต
          ในรายที่ไม่เหลืองมากนัก ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่เจาะเลือดดูระดับสารบิลิรูบิน หากผลเลือดสารบิลิรูบินไม่สูงนัก แพทย์อาจอนุญาตให้กลับบ้านได้  หากเหลืองในระดับปานกลางหรือยังไม่แน่ใจ แพทย์อาจเจาะเลือดซ้ำในวันรุ่งขึ้น เพื่อดูว่าระดับสารสีเหลืองลดลงจากวันก่อนหรือไม่
การส่องไฟ
          ใช้รักษาทารกที่มีระดับบิลิรูบินปานกลางถึงสูง โดยนำหลอดฟูโอเรสเซนต์ ทำเป็นแผงไฟ มาส่องเหนือตัวทารก  แสงไฟสามารถเปลี่ยนสภาพของบิลิรูบินจนสามารถขับออกทางอุจจาระหรือปัสสาวะได้ดี การรักษาด้วยวิธีนี้อาจใช้เวลา 3 - 7 วัน
การถ่ายเปลี่ยนเลือด
           การถ่ายเปลี่ยนเลือด จะทำไม่บ่อย เป็นการถ่ายเอาเลือดที่มีบิลิรูบินสูงออกจากตัวทารกแล้วเอาเลือดใหม่ซึ่งไม่มีปฏิกิริยากับเลือดของทารกเข้าไปแทน  จะทำในทารกที่มีหมู่เลือดไม่เข้ากับของมารดาและมีอาการเหลืองเร็วภายหลังคลอด หรือในทารกที่มีระดับบิลิรูบินอยู่ในระดับอันตราย หรือในทารกที่เริ่มปรากฏอาการทางสมอง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการช่วยเหลือ
     ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะตรวจหาอะไรบ้าง
  • ตรวจหาเอนไซม์ จี-6พีดี
  • ตรวจหาหมู่เลือดทารก
  • ตรวจหาเม็ดเลือดแดงที่แตก
คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกตัวเหลือง
     เมื่อมารดาสังเกตว่าทารกตัวเหลืองควรให้
1. ทารกดูดนมมารดาบ่อย ๆ เพื่อช่วยการขับสารบิลิรูบินออกทั้งปัสสาวะ และอุจจาระ
2. ให้ทารกนอนในที่มีแสงสว่างมาก ๆ อาจเปิดไฟช่วยได้
3. ให้สังเกตว่าทารกตัวเหลืองเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเหลืองมากขึ้น ซึม ไม่ดูดนม ควรปรึกษาแพทย์
 
 การส่องไฟในทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง
 
 
 
 วิดีโอแสดงการส่องไฟภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

 
แหล่งอ้างอิง
รศ.นพ. สรายุทธ สุภาพรรณชาติ(แก้ไขล่าสุดวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2011 เวลา 10:53 น.).ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด.10/4/13
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 
 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น